Subscribe:

วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา



ขอขอบคุณข้อมูลจาก เว็บ thaiwhic

ตั้งอยู่ที่ เกาะเมือง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรี-อยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศเหนือ ๗๖ กิโลเมตร

               ตัวเกาะเมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางของกรุงศรีอยุธยาในอดีต ถูกล้อมรอบด้วยแม่น้ำสำคัญ  ๓ สายคือ  แม่น้ำลพบุรีด้านทิศเหนือ   แม่น้ำป่าสักด้านทิศตะวันออก   และแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันตกและทิศใต้   ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการเกษตรกรรมอันเป็นพื้นฐานของการตั้งถิ่นฐาน เป็นชุมทางคมนาคมที่เอื้อต่อการค้าทั้งภายในและภายนอก ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีความสำคัญของภูมิภาคเอเชียและของโลก ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๓

               กรมศิลปากร ได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓ ตอนที่ ๑๐๒ ลงวันที่ ๑๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙ พื้นที่ ๑,๘๑๐ ไร่ และในปี พุทธศักราช ๒๕๔๐ กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยาเพิ่มเติม ซึ่งครอบคลุมเกาะเมืองอยุธยาและพื้นที่รอบนอกเกาะเมืองทุกด้านที่ปรากฏหลักฐานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี รวมพื้นที่โบราณสถานประมาณ ๓,๐๐๐ ไร่

เขต ๑ พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์


พระราชวังโบราณ
                เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ ต่อมาในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ พุทธศักราช ๑๙๙๑ โปรดฯให้ย้ายพระราชวังขึ้นไปสร้างใหม่ทางเหนือริมแม่น้ำลพบุรี และอุทิศพระราชวังเดิมให้เป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์สำหรับประกอบพระราชพิธีต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ มีลักษณะแผนผังแบ่งออกเป็น ๓ ส่วนคือ  เขตพระราชฐานชั้นนอก  เขตพระราชฐานชั้นกลาง  และเขตพระราชฐานชั้นใน ประกอบด้วยพระที่นั่งต่างๆ ได้แก่ พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท พระที่นั่งวิหารสมเด็จ พระที่นั่งจักรวรรดิ-ไพชยนต์ พระที่นั่งบรรยงรัตนาสน์ พระที่นั่งตรีมุข และพระที่นั่งทรงปืน เป็นต้น

วัดพระศรีสรรเพชญ์
                เดิมเป็นพระราชวังซึ่งพระเจ้าอู่ทองทรงสร้าง ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงอุทิศให้เป็นวัดสำหรับประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ เมื่อปี พุทธศักราช ๑๙๙๑ ภายในวัดประกอบด้วยเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถและสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ และพระวิหารพระศรีสรรเพชญ์ ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่  ๒   เมื่อปีพุทธศักราช  ๒๐๓๕   และพุทธศักราช  ๒๐๔๒   ตามลำดับ   โดยภายในพระวิหารหลวงจะประดิษฐาน “พระศรีสรรเพชญ์” ซึ่งพระองค์โปรดให้หล่อขึ้นในปี พุทธศักราช ๒๐๔๓ ส่วนพระเจดีย์อีกองค์หนึ่งนั้นได้รับการสร้างขึ้นในสมัยพระบรมราชาธิราชที่ ๔ เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระราชบิดา

วัดมหาธาตุ
               เป็นวัดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ โปรดฯให้สถาปนาขึ้นเมื่อปี พุทธศักราช ๑๙๑๗ แต่มาแล้วเสร็จในสมัยสมเด็จพระราเมศวร มีปรางค์ประธานเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมปรางค์ประธานได้พังทลายลงมา   และได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง   กระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรางค์ประธานได้พังทลายลงมาอีกครั้งดังปรากฏสภาพในปัจจุบัน

วัดราชบูรณะ
               เป็นวัดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) โปรดฯให้สถาปนาขึ้นในปีพุทธศักราช ๑๙๖๗ บริเวณที่ถวายพระเพลิงพระศพเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา     พระเชษฐาของพระองค์ซึ่งสิ้นพระชนม์เนื่องจากการรบแย่งชิงราชสมบัติ ภายในวัดประกอบด้วยปรางค์ประธานซึ่งล้อมรอบด้วยระเบียงคด มีพระวิหารตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ส่วนพระอุโบสถตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ภายในกรุปรางค์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนต้น และเป็นที่บรรจุเครื่องราชูปโภคซึ่งทำด้วยทองคำ พระพิมพ์ และของมีค่าอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก

วัดพระราม
               ตั้งอยู่ใกล้กับหนองโสนหรือบึงพระราม   เป็นวัดที่สมเด็จพระราเมศวรโปรดฯ    ให้สถาปนาขึ้นบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ในปีพุทธศักราช ๑๙๑๒ ต่อมาได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถและสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ภายในวัดประกอบด้วยปรางค์ประธานขนาดใหญ่ มีปรางค์ขนาดเล็ก ๒ องค์ขนาบอยู่ทางทิศเหนือ – ใต้ และมีเจดีย์ประจำมุมทั้งสี่ด้วย

วิหารพระมงคลบพิตร
                พระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์และลงรักปิดทอง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น เพราะมีลักษณะศิลปะอู่ทองผสมกับศิลปะสุโขทัย แต่เดิมประดิษฐานอยู่กลางแจ้งด้านทิศตะวันออกนอกพระราชวังหลวง  ถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พุทธศักราช ๒๑๕๓  โปรดฯ ให้ชะลอมาไว้ทางด้านตะวันตกและสร้างมณฑปครอบองค์พระ จนถึง พุทธศักราช ๒๒๘๕ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์โดยเปลี่ยนหลังคาซึ่งเป็นมณฑปมาเป็นวิหาร
เขต ๒ พื้นที่เกาะเมืองนอกเขตอุทยานประวัติศาสตร์


พระราชวังจันทรเกษม
                หรือวังหน้าสมัยอยุธยา อยู่ริมแม่น้ำป่าสักบริเวณลำคูขื่อหน้า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชโปรดฯให้สร้างขึ้นราว พุทธศักราช ๒๑๒๐ เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในขณะที่พระองค์ยังเป็นพระยุพราชครองเมืองพิษณุโลก และได้ใช้เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลองค์ต่อมาตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ปี พุทธศักราช ๒๓๑๐ จึงถูกไฟไหม้หมด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ  ให้ซ่อมแซมฟื้นฟูโดยการสร้างพระราชวังใหม่ซ้อนทับบนรากฐานเดิม  ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างสำคัญได้แก่  พลับพลาจตุรมุข พระที่นั่งพิมานรัตยา และพระที่นั่งพิสัยศัลยลักษณ์ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ทำการอนุรักษ์และปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม

วัดสุวรรณดาราราม
                เป็นวัดสำคัญประจำราชวงศ์จักรี สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งแต่เดิมชื่อ ทองดี เป็นผู้สร้างและให้ชื่อว่า “วัดทอง”  ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว จึงโปรดฯ ให้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “วัดสุวรรณดาราราม”  ภายในวัดมีพระอุโบสถและพระวิหารตั้งอยู่คู่กัน ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

เขต ๓ พื้นที่นอกเกาะเมืองด้านทิศตะวันออก


วัดพนัญเชิง
                พงศาวดารเหนือระบุว่าเป็นวัดที่พระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นผู้สร้าง และพระราชทานนามว่า “วัดพระเจ้าพระนางเชิง” มีพระเจ้าพนัญเชิง ซึ่งสร้างขึ้นใน ปี พุทธศักราช ๑๘๖๗ ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา ๒๖ ปี เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย สูง ๑๙ เมตร เป็นพระประธานภายในพระวิหาร  ต่อมาในปี พุทธศักราช ๒๓๙๗ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งองค์ แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “พระพุทธไตรรัตนายก” ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “หลวงพ่อโต”

วัดใหญ่ชัยมงคล
               เป็นวัดที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)  โปรดฯให้สร้างขึ้นที่บริเวณที่ปลงพระศพเจ้าแก้วเจ้าไทย  ซึ่งสิ้นชีพตักษัยด้วยอหิวาตกโรค เมื่อปี พุทธศักราช ๑๙๐๐ เพื่อให้เป็นสำนักสงฆ์คณะป่าแก้ว ซึ่งปฏิบัติทางวิปัสสนาธุระ และยังเป็นที่จำพรรษาของสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายขวาหรือฝ่ายอรัญวาสี ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้กระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา จึงโปรดให้สร้าง พระเจดีย์ไว้เป็นที่ระลึก ขนานนามว่า “พระเจดีย์ชัยมงคล” เป็นเจดีย์ประธานทรงกลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ มีระเบียงคดล้อมรอบ

วัดมเหยงคณ์
                ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า   เป็นวัดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒   โปรดฯให้สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๘๑ และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระในปีพุทธศักราช ๒๒๕๒ – ๒๒๕๖ ภายในวัดประกอบด้วยเจดีย์ประธานทรงระฆังบนฐานประทักษิณซึ่งประดับด้วยประติมากรรมรูปช้างรอบฐาน ส่วนชื่อวัดมเหยงคณ์ สันนิษฐานว่าตั้งชื่อตามมหิยังคณะในลังกาทวีป

หมู่บ้านญี่ปุ่น
                ชาวญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในกรุงศรีอยุธยา เพื่อเข้ามาทำการติดต่อค้าขายและเป็นทหารรับจ้าง พระมหากษัตริย์ไทยได้พระราชทานที่ดินและจ้างชาวญี่ปุ่นเพื่อทำสงครามและต่อต้านการกบฏ ชุมชนญี่ปุ่นซึ่งต่อมากลายเป็นชุมชนเลือดผสม จึงเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมืองอยุธยา ปัจจุบันสมาคมไทย – ญี่ปุ่น ได้สร้างอาคารจัดแสดงขึ้นบนบริเวณที่เคยเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่นเดิม เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นอนุสรณ์สถานระหว่างไทยและญี่ปุ่น

หมู่บ้านฮอลันดา
                ตั้งอยู่ในเขตตำบลคลองสวนพลูปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ ภายในปรากฏซากของโบราณสถาน ได้แก่แผ่นป้ายบอกบริเวณที่เคยเป็นหมู่บ้าน บ่อน้ำก่อด้วยอิฐ และซากอิฐซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของอาคารคลังสินค้าฮอลันดาหรือที่เรียกกันในสมัยอยุธยาว่า วิลันดา เป็นชาวต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อและมีความสัมพันธ์กับกรุงศรีอยุธยาในด้านการค้าต่อจากชาวโปรตุเกสและสเปน โดยมีบริษัทอีสอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ซึ่งตั้งขึ้นในปี พุทธศักราช ๒๑๔๔ เป็นตัวแทนและจัดการติดต่อทางด้านการค้าอยู่ในกรุงศรีอยุธยา

เขต ๔ พื้นที่นอกเกาะเมืองด้านทิศตะวันตก


วัดไชยวัฒนาราม 
               เป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดฯให้สร้างขึ้นในบริเวณนิวาสสถานของพระราชชนนี ในปีพุทธศักราช ๒๑๗๓ เพื่ออุทิศถวายพระราชชนนีและเป็นอนุสรณ์แสดงชัยชนะที่มีต่อเขมร จึงได้สร้างโดยจำลองแบบปราสาทนครวัด ซึ่งประกอบด้วยปรางค์ขนาดใหญ่เป็นประธาน มีปรางค์มุมตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน ล้อมรอบด้วยระเบียงคดซึ่งมีเมรุตั้งประจำอยู่ทุกทิศ แสดงให้เห็นถึงคติเรื่องการจำลองจักรวาลในพุทธศาสนา

วัดวรเชษฐาราม
                สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สมเด็จพระเอกาทศรถสร้างขึ้น เพื่อบรรจุอัฐิของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จากคำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่าวัดวรเชษฐ์นี้ เคยเป็นที่ตั้งค่ายรอบกรุงของพม่าทางด้านตะวันตกเรียกว่า “ค่ายวัดวรเชษฐ์ ค่ายบ้านป้อม”ภายในวัดประกอบด้วยปรางค์เป็นประธานของวัด มีพระอุโบสถตั้งอยู่ทางด้านหลังปรางค์ ส่วนวิหารตั้งเยื้องออกไปทางทิศใต้


เขต ๕ พื้นที่นอกเกาะเมืองด้านทิศเหนือ


วัดภูเขาทอง
              ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระราเมศวร  โปรดฯ ให้สร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อ  พุทธศักราช ๑๙๓๐  ครั้งถึง พุทธศักราช ๒๑๑๒ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาได้ จึงสร้างเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานถึงชัยชนะ    ต่อมาถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดฯ    ให้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์และพระอารามทั้งหมดในปีพุทธศักราช ๒๒๘๘    โดยเฉพาะเจดีย์ประธานพระองค์โปรดให้เปลี่ยนเป็นทรงเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ดังนั้นฝีมืออย่างพม่าเดิมจึงเหลือเพียงฐานประทักษิณเท่านั้น

วัดหน้าพระเมรุ
                ตามตำนานกล่าวว่าพระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒   ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พุทธศักราช ๒๐๔๗ พระราชทานนามว่า “วัดพระเมรุราชิการาม” ต่อมาเรียกวันภายหลังว่า “วัดหน้าพระเมรุ”  สันนิษฐานว่าสร้างตรงที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระราชาพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง      ภายในวัดประกอบด้วยพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ปางมารวิชัย มีพระนามว่า “พระพุทธนิมิตรวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ”

เพนียดคล้องช้าง 
               เป็นสถานที่ที่ใช้ในการคล้องช้างป่า แต่เดิมเคยมีเพนียดตั้งอยู่ที่วัดซองด้านเหนือของพระราชวังจันทรเกษม ถึงแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา พุทธศักราช ๒๑๒๓ โปรดให้ขยายกำแพงพระนครด้านตะวันออกไปถึงริมแม่น้ำ จึงทรงย้ายเพนียดไปที่ตำบลทะเลหญ้า หรือตำบลสวนพริกในปัจจุบัน หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ แล้ว เพนียดคงถูกทิ้งร้างไป   จนกระทั่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์   พระมหากษัตริย์จึงโปรดฯให้บูรณะเรื่อยมา   เช่น   ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลปัจจุบัน

เขต ๖ พื้นที่นอกเกาะเมืองด้านทิศใต้


วัดพุทไธศวรรย์
                ตั้งอยู่ริมแม่น้ำตรงข้ามกับพระนครด้านใต้ ในบริเวณเวียงเหล็กที่พระเจ้าอู่ทอง โปรดฯให้สร้างขึ้นในปีพุทธ-ศักราช ๑๘๙๖ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงบริเวณที่พระองค์เคยเสด็จมาประทับอยู่ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา โบราณสถานสำคัญได้แก่ ปรางค์ประธาน วิหารคด และตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ที่ผนังภายในตำหนักมีภาพเขียนสีในสมัยอยุธยาเรื่องทศชาติ และเรื่องสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ไปนมัสการพระพุทธบาทที่ลังกาทวีป

หมู่บ้านโปรตุเกส 
               ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ มีอยู่ด้วยกัน ๓ นิกาย คือ นิกายเยซูอิต  นิกายฟรานซิสกัน   และนิกายโดมินิกัน   ได้สร้างหมู่บ้านอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านใต้ของเกาะเมือง ปัจจุบันบนพื้นที่บริเวณนั้นปรากฏโบราณสถานจำนวน ๓ แห่ง คือ ซานเปาโล ซานโดมิงโก และซานเปโตร โดยโบราณสถานซานเปโตรนั้น เข้าใจว่าเป็นโบสถ์ที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดฯให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานของชาวโปรตุเกส นับว่าเป็นโบสถ์คริสต์แห่งแรกที่สร้างขึ้นในแผ่นดินไทย

เขต ๗ พื้นที่นอกเหนือจากที่ระบุไว้แล้ว ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา


ปราสาทนครหลวง
               อำเภอนครหลวง ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำป่าสัก พระราชพงศาวดารระบุว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดฯให้ช่างไปถ่ายแบบปราสาทนครหลวงในประเทศกัมพูชามา สร้างไว้เป็นสังเขปเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ เป็นสถานที่ตั้งอยู่ระหว่างทางที่เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี ปราสาทนครหลวงจึงเป็นสถานที่ประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถและเป็นที่พักแรมในระยะทางที่เสด็จไปประพาสเมืองลพบุรีด้วย

วัดใหม่ประชุมพล
                อำเภอนครหลวง ภายในวัดประกอบด้วย เจดีย์ประธานทรงย่อมุมไม้สิบสองบนฐานสูงที่นิยมสร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ภายในกรุของเจดีย์ที่ฝาผนังเขียนลวดลายพุ่มข้าวบิณฑ์ และรูปดวงดารา ตามคำบอกเล่ากล่าวว่า      วัดแห่งนี้เป็นสถานที่พักแรมของพวกข้าราชบริพารที่ตามเสด็จพระเจ้าทรงธรรมไปนมัสการรอยพระพุทธบาท สระบุรี

 วัดชุมพลนิกายาราม
                อำเภอบางปะอิน ตั้งอยู่ใกล้กับพระราชวังบางปะอิน เป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดฯให้สร้างขึ้นราว พุทธศักราช ๒๑๗๕ โดยทรงอุทิศบ้านเดิมที่ทรงพระราชสมภพถวายเป็นพุทธบูชา      โดยสร้างวัดขึ้นตรงนั้น พระราชทานนามว่า “วัดชุมพลนิกายาราม” ภายในวัดมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองปรากฏอยู่ ๒ องค์ และอาคารอื่น ๆ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น