Subscribe:

วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ตลาดน้ำคลองสระบัว


ตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตลาดตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติของต้นไม้และผืนหญ้า เมื่อได้ผ่านเข้าไปก็ยิ่งเห็นถึงความแปลแตกต่างจากตลาดน้ำทั่วไปที่ได้พบมา เพราะที่ตลาดน้ำคลองสระบัวถูกเนรมิตขึ้นมาให้อยู่ท่ามกลางความสดเขียวของเรียวรวงข้าวกลางท้องทุ่งนาของเมืองอยุธยาจริง ๆ  แค่เส้นทางที่ใช้เดินเข้าสู่ตลาดก็ทำให้รู้สึกได้ถึงความต่างกับตลาดน้ำ ตลาดโบราณ หลาย ๆ แห่ง เน้นการตกแต่งด้วยของง่าย ๆ ที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันของเกษตรกรเช่น อุปกรณ์หาปลา ปิ่นโต หม้อดินเผามีเป็นเรือนไม้ หลังคาจากมุงแฝก ขนาดใหญ่หลายหลัง นอกจากจะเป็นตลาดที่ขายสินค้าพวกอาหาร ผัก ผลไม้ แล้วยังมีการแสดงที่ใช้ท้องนา และพื้นน้ำเป็นเวที นักแสดง ออกมาจากทุกทิศทุกทางสวยงามอลังการ อีกด้วย


สิ่งที่น่าสนใจในตลาดน้ำคลองสระบัว



สัมผัสบรรยากาศของวิถีไทย

 เพียงย่างก้าวที่เราได้เข้ามาในตลาดน้ำคลองสระบัว ในส่วนของบริเวณทางเข้า เราจะได้สัมผัสกับทุ่งนาเขียวขจีซึ่งบ่ง บอกถึงความสมบรูณ์ของเมืองอยุธยา แต่ครั้งเก่าก่อน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของไทย นอกจากนี้ยังบ้านเรือนไทยในสมัยก่อนประดับประดาด้วยข้างของง่ายของง่ายๆ ที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันของเกษตรกร  เช่น อุปกรณ์หาปลา หม้อดินเผาที่จำลองมาให้เข้า ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ นอกจานี้หากเดินไปยังอีกฝั่งหนึ่งของตลาดน้ำ ก็จะพบกับสระบัวขนาดใหญ่พร้อมดอกบัวที่กำลังบานชูช่อสวยงามอวดสายตาให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมชม และดาราเด่นแห่งท้องนาคงไม่พ้นเจ้าทุยที่นอนเกลือกกลิ้งโคลน เป็นบรรยากาศของวิถีชีวิตแลธรรมชาติแบบนี้เป็นสิ่งที่เราจะหาชมได้ยากในเมืองใหญ่ชมบรรยากาศเลือกชิมของกินอร่อยนอกจากสัมผัสบรรยากาศแบบพื้นบ้านแล้ว ที่ตลาดน้ำคลองสระบัว ยังมีอาหารพื้นบ้านทั้งคาวหวานให้เราเลือกชิมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นขนมจีน มะตะบะ ยำต่าง หมูสะแต๊ะลูกชิ้น ขนมถ้วย ปอเปี๊ยะ เป็นต้น การซื้ออาหารรับประทานก็จะต้องมีการแลกคูปองด้วย



ชมการแสดง
 การแสดงที่เปิดให้ชมที่ตลาดน้ำคลองสระบัว เป็นการแสดงที่ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมฟรี โดยเป็นการที่งดงามและตระการตา โดยเนรมิตฉากกลางทุ่งนาและเวทีกลางน้ำ ซึ่งดูแปลกตากว่าที่อื่น มีทั้งการแสดงวรรณคดีไทย และการแสดงพื้นบ้านต่างๆมีให้ชมทั้งหมด 4 รอบด้วยกัน คือ 

รอบที่ 1 : 12.00 น., 
รอบที่ 2 : 14.00 น. ,
รอบที่ 3 : 15.30 น. ,
รอบที่ 4: 17.00 น.

การแสดง แต่ละรอบแสดงไม่ซ้ำกันใช้เวลาในการแสดงรอบละครึ่งชั่วโมง



รายละเอียดเพิ่มเติม

เปิดให้เยี่ยมชมใน เสาร์ - อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น. ติดต่อสอบถาม 02-610-9458 089-7676671  องค์การบริหารส่วนตำบลคลองสระบัว 035-328334 http://www.klongsrabua.go.th/index.php



การเดินทางไปตลาดน้ำคลองสระบัว


โดยรถยนต์ส่วนตัว
 เมื่อมาถึงเกาะเมืองอยุธยา วิ่งรอบคูเมืองไปตามถนนอู่ทอง ตัดข้ามคูเมืองตามเส้นที่จะไปบ้านคลองสระบัว ผ่านวัดศรีโพธิ์ ขับตรงไปเรื่อยๆ ก็จะถึงตลาดน้ำคลองสระบัว เข้าไปจอดรถก่อนทางเข้าตลาด จอดฟรีค่ะ


โดยรถสาธารณะ
จากสถานีหมอชิตใหม่ มีบริการรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยาทุกวันวันละ
หลายเที่ยว ทั้งรถโดยสารปรับอากาศชั้น 1 กรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา และรถโดยสารปรับอากาศชั้น 2 กรุงเทพฯ-ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร-พระนครศรีอยุธยา สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2936 2852-66 หรือที่เว็บไซต์ www.transport.co.th หรือรถตู้โดยสารจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต นั่งรถมาลงสุดสาย จากนั้นต่อรถมอเตอร์ไซค์ไปลงตลาดน้ำคลองสระบัว ค่าโดยสาร 25 บาท


วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

หมู่เกาะตรัง


เกาะกระดาน

เป็นเกาะที่สวยที่สุดของทะเลตรัง (ไม่นับเกาะรอก ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดกระบี่ แต่เดินทางได้สะดวกจากตรัง) มีเนื้อที่ประมาณ 600 ไร่ 5 ใน 6 ส่วนของเกาะนี้อยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ที่เหลือเป็นสวนยางและสวนมะพร้าวของเอกชน เกาะกระดานเป็นชายหาดที่มีทรายขาวละเอียด ชายหาดกว้างใหญ่สวยงามน่าเล่นน้ำ น้ำทะเลใสจนมองเห็นแนวปะการังน้ำตื้น ตลอดจนฝูงปลาหลากหลายพันธุ์ ทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวมาแวะจอดเรือเล่นน้ำ อาบแดด หรือนั่งละเลียดความสุขดื่มด่ำกับความงามของหาดทราบกันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีอ่าวเนียง ซึ่งเป็นจุดดำน้ำตื้นชมปะการังได้อย่างสวยงามในวันที่เหมาะสม น้ำทะเลที่อ่าวเนียงนี้จะใสปิ๊งเป็นสีมรกตงดงามมาก เหล่าปะการังใต้น้ำเป็นปะการังแข็งที่มีชีวิต มีฝูงปลาต่างๆ หลากหลายให้ชื่นชม บนเกาะมีที่พักบริการทั้งของเอกชนและหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ การเดินทาง มีเรือของรีสอร์ทบนเกาะกระดานบริการนักท่องเที่ยวที่จองที่พักกับรีสอร์ทต่างๆ และมีเรือเช่าเหมาลำจากท่าเรือปากเมงและท่าเรือควนตุงกู ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง



เกาะไหง

เป็นเกาะที่มีทุกอย่างครบครันสำหรับนักท่องเที่ยว โดยเกาะไหงจะมีลักษณะเป็นที่พักแรม บนเกาะมีที่พักเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่ง เรียงรายไปตามแนวชายหาดทรายสีนวลด้านตะวันออก มีทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทย มาเลเซีย และฝรั่งมากมายปะปนกันไป มีบริการท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆ เริ่มจากบนเกาะนี้มากมาย เรือของนักท่องเที่ยวที่เห็นแล่นวนเวียนท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ มีไม่น้อยที่มาจากเกาะไหงแห่งนี้ เกาะไหง ความจริงทางการปกครองขึ้นกับจังหวัดกระบี่ มีแนวโน้มว่าจากการที่มีนักท่องเที่ยวฝรั่งเข้าพักเป็นจำนวนมาก มาพักครั้งละนานวัน ทำให้อาจเกิดชุมชมนักท่องเที่ยวของอ่าวนาง ไร่เล และเกาะลันตาของกระบี่ขึ้นได้ในอนาคต ด้วยความที่เกาะไหงตั้งอยู่ห่างไกลจากทะเลกระบี่มาก จึงนับรวมเข้ากับอาณาจักรท่องเที่ยวของทะเลตรัง และจุดเด่นที่ไม่ซ้ำใครอีกอย่างหนึ่งของเกาะไหงก็คือจุดดำน้ำลึกที่ไม่ลึกนัก แต่มีสีสันของปะการังอ่อนที่สวยงามที่ปลายเกาะ ที่ตรงนั้นเป็นแท่งหินธรรมชาติขนาดใหญ่ คือ หินกวนอิม ซึ่งนอกจากจะดำน้ำลึกได้สวยงามแล้ว ยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามของทะเลตรังอีกด้วย การเดินทาง มีเรือของรีสอร์ทบนเกาะไหงบริการนักท่องเที่ยวที่จองที่พักกับรีสอร์ทต่างๆ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง



เกาะมุก

เกาะชายฝั่งขนาดใหญ่ มีผู้คนอยู่อาศัยเป็นหมู่บ้าน 3 แห่ง มีชายหาดที่สวยงามรูปแบบต่างๆ ถึง 3 หาด คือ หาดฝรั่ง เป็นหาดที่มีที่พักเรียงรายหลายหลัง และหลายเจ้าของ วางตัวอยู่บนหาดทราบสีนวลกว้างใหญ่ มีชุมชนนักท่องเที่ยวฝรั่งขนาดใหญ่ มีบริการทางการท่องเที่ยวต่างๆ หลากหลาย นักท่องเที่ยวจากเกาะมุกย่านนี้ตระเวนท่องเที่ยวไปในแหน่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วทั้งทะเลตรัง หาดสบาย เป็นหาดทราบสีนวลคล้ำ มีจุดเด่นด้านความเงียบสงบ แทบทุกวันที่นี่จึงมีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่รักสงบมาจอดเรือแวะพักเล่นน้ำ อาบแดดกันสบายๆ เป็นการละทิ้งโลกที่ยุ่งเหยิงเข้าสู่โลกส่วนตัวที่สงบงามไม่ซ้ำใคร แต่หาดที่กำลังมาแรงของเกาะมุกก็คือปลายแหลม ด้านที่หันเข้าหาฝั่ง ที่ตรงนั้นเป็นรีสอร์ตเอกชนระดับห้าดาว ชื่อเกาะมุกศิวาลัย จุดเด่นของมุมเล็กๆ ที่เกาะมุกตรงนี้อยู่ที่ที่พักอันงดงาม ในบรรยากาศสบายๆ ของหาดทรายชายทะเลสีขาวสะอาด แบบที่เรีกว่าขาวจั๊วะจนแสบตาในตอนกลางวัน และงดงามสุกสกาวในยามค่ำคืน ทุกวันที่รีสอร์ตแห่งนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าพักแรมสม่ำเสมอมิได้ขาด หากแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นเป็นเอกที่สุดของเกาะมุกก็คือ ถ้ำมรกต เวิ้งถ้ำที่มีลักษณะเป็นทะเลใน มีน้ำทะเลใสสีมรกต และหาดทราบสียาวกล้างใหญ่ภายในถ้ำ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ให้ทั้งความน่าตื่นเต้นและความวดวามน่าประทับใจไปพร้อมๆ กัน ปากถ้ำของถ้ำมรกตเป็นหน้าผาริมทะเล มองเข้ามาจากกลางทะเลแทบไม่เห็นปากถ้ำ วิธีการเข้าในเที่ยวในถ้ำมรกตเป็นวิธีที่น่าสนุกสนาน เพราะเพดานถ้ำอยู่ต่ำเรี่ยน้ำ การเข้าถ้ำจึงสัมพันธ์กับเวลาน้ำขึ้นน้ำลง นักท่องเที่ยวที่มากันเป็นจำนวนมากต้องเข้าถ้ำด้วยวิธีการสวมชูชีพลงไปลอยคอในน้ำ และว่ายน้ำฝ่าความมืดมิดเป็นระยะทางประมาณ 300 เมตรเข้าไป ระหว่างทางด้วยแรงเชียร์ของหัวหน้าคณะและด้วยความตื่นเต้น นักท่องเที่ยวจึงพากันส่งเสียงโห่ฮากันเป็นที่สนุกสนาน ครั้นพอฝ่าความมืดเข้าไปจนถึงปลายถ้ำ ที่ตรงนั้นเปิดออกไปเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง เห็นน้ำทะเลสีมรกตใสแจ๋วและหาดทราบขาวสะอาด มีไม้ใบเขียวชนิดต่างๆ ใหญ่น้อยปกคลุมทั่งไป เรียกว่าพอหลุดจากถ้ำมืดเข้าไปพบที่สว่างไสวสวยงาม จึงเหมือนกับออกจากโลกขึ้นสู่สรวงสวรรค์เล็กๆ ในพริบตานั่นทีเดียว การเดินทาง ลงเรือจากท่าเรือปากเมง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 40 นาที



กลุ่มเกาะ 3 เกาะ

คือ เกาะม้า เกาะแหวน และเกาะเชือก เป็นกลุ่มเกาะเล็กๆ กลางทะเลตรัง ตัวเกาะนั้นจัดเป็นเกาะสัมปทานรังนก ไม่สามารถจะขึ้นไปได้ และจริงๆ ก็แทบจะไม่มีที่ราบๆ พอจะให้ขึ้นไปชม แต่ในผืนน้ำรอบเกาะทั้งสามนี้ ในช่วงกลางวันจัดเป็นจุดดำน้ำที่สวยงาม ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของที่นี่ คือ น้ำจะไม่ใสนัก ดูปะการังยาก แต่เหล่าปะการังใต้น้ำก็มีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของการดำน้ำดูปะการังในทะเลไทยทั้งหมดได้อย่างหนึ่งทีเดียว เกาะเชือก และเกาะม้า จัดเป็นจุดดำน้ำตื้นชมปะการังที่บรรดาแพ็กเกจท่องเที่ยวของที่พักต่างๆ ทั่วทั้งทะเลตรังมุ่งมาชมเพราะปะการังใต้น้ำที่นี่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ในต้ำตื้นๆ ที่นี่ หากน้ำทะเลใสจะพอมีโอกาสได้เป็นปะการังอ่อนสีแดงกลุ่มก้อนใหญ่ๆ กัลปังหาต้นเล็กๆ สีเหลืองขลิบแดงหรือสีแดงมากมาย ไม่เหมือนที่อื่นๆ ที่อาจจะมีแต่ปะการังแข็ง แต่ปะการังแข็งและฝูงปลาของที่นี่ก็มีไม่น้อยเช่นเดียวกัน ภาพที่เห็นกันจนชินตาแทบทุกวันในแถบนี้ก็คือ ภาพนักท่องเที่ยวจำนวนมากถูกปล่อยลงไปดำผุดดำว่ายชมปะการังกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เรียงราย เกาะแหวน น้ำทะเลยังลึกและใสพอสำหรับการดำน้ำลึกแบบ Scuba Diving โดยเฉพาะการเรียนการสอนดำน้ำลึกของชาวตรังมักจะมาเริ่มต้นกันที่นี่ ด้วยเหตุนี้ หลังจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ จึงมีการติดตั้งประติมากรรมใต้ทะเลรูปใหญ่ๆ หลายชิ้น รอไว้ให้นักดำน้ำมือใหม่ได้ดำลงไปชื่นชมความงามอีกด้วย นอกจากนั้น ในวันนี้ที่กลุ่มเกาะนี้ยังมีเรือใบชนิด Catamarun หรือเรือใบชนิดสองทุ่นลำใหญ่ ให้บริการแล่นเรือชมอ่าวมาสิ้นสุดที่การกินอาหารท่ามกลางฉากอันสวยงามของพระอาทิตย์ตกน้ำ เป็นภาพงดงามประทับใจไม่มีวันลืมเลยทีเดียว


หมู่เกาะเหลาเหลียง

ประกอบด้วยเกาะ 3 เกาะด้วยกัน คือ เกาะเหลาเหลียงพี่ เกาะเหลาเหลียงน้อง บางคนเรียกว่าเกาะเหลาเหลียงใต้ (พี่) และเกาะเหลาเหลียงเหนือ (น้อง) และเกาะตะเกียง ทั้ง 3 เกาะ เป็นเกาะสัมปทานรังนก ดังนั้นเมื่อทำการท่องเที่ยวจึงมีเจ้าของเพียงเจ้าเดียว คือเจ้าของสัมปทานรังนกที่ลงมาทำการท่องเที่ยวเองนั่นเอง บริษัท X-site Driving and Travelling คือบริษัทที่ทำการท่องเที่ยวบนเกาะเหลาเหลียง โดยจัดทำแพ็กเกจท่องเที่ยวหลายชนิดแตกต่างกันตรงจำนวนวันที่อยู่บนเกาะ แต่สิ่งที่ทำให้รายการท่องเที่ยวของเกาะเหลาเหลียงเป็นที่รู้จักก็คือความสมบูรณ์ของเกาะทั้งสาม นับตั้งแต่หาดทรายขาวสะอาด หน้าผาและโขดหินที่สวยงาม น้ำทะเลเป็นสีเขียวมรกตและใสสะอาด รวมทั้งเหล่าปะการังแข็ง ปะการังอ่อนแน่นขนัดที่เกาะตะเกียงด้วย นอกจากความงดงามตามธรรมชาติดังกล่าวถึงนั้นแล้วทางบริษัทฯ ยังได้เพิ่มมูลค่าของแพ็กเกจเหล่านี้ขึ้นไปอีกด้วยการใส่แนวคิดลงไปในที่พัก โดยจัดสร้างห้องพักให้กลายเป็นห้องพักแบบเต็นท์บูติกอย่างสวยงาม จัดทำสวน ทำทางเดินให้น่ารัก สร้างห้องน้ำให้งดงาม รวมทั้งจัดให้มีการบริการด้านกิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ หลากหลายครบครัน ตั้งแต่การดำน้ำลึก ดำน้ำตื้น การพายเรือคายัก และที่กำลังเป็นที่ฮือฮาก็คือการปีนหน้าผา เพราะคุณภาพของหน้าผาที่นี่ถึงพร้อมที่จะเป็นหน้าผาชนิด "ระดับโลก" คือมีทั้งคุณภาพในแง่ความยากง่ายหลากหลายของเส้นทางปีน ความง่ายในการเข้าถึง มีการบริการในด้านต่างๆ ครบครัน และมีรางวัลก้อนโตคือทิวทัศน์อันสวยงามเป็นพิเศษ ในวันนี้แพ็กเกจท่องเที่ยวของเกาะเหลาเหลียงขายได้และขายดี ไม่เฉพาะในหมู่คนไทย แม้ในกลถ่มนักปีนหน้าผาชาวต่างชาติแพ็กเกจของเกาะเหลาเหลียงก็ขายได้ดี ที่นี่วันนี้จึงมีแขกเข้าออกทั้งในวันธรรมดาและวันหยุดราชการเสาร์-อาทิตย์ ถ้าจะเปรียบชีวิตประจำวันบนเกาะเหลาเหลียงก็เหมือนกับการเข้าค่ายซ้อมกีฬา มีกีฬาให้เล่นหลายชนิด ตั้งแต่ดำน้ำตื้น ดำน้ำลึก พายเรือ ปีนหน้าผา กินอาหาร และพักผ่อน เข้านอน เริ่มตั้งแต่เช้าตื่นนอน ออกจากเต็นท์หลังสวยแสนสบายไปกินอาหารแบบบุฟเฟต์ ไปเข้าห้องน้ำที่สร้างง่ายๆ แต่มีสไตล์ เสร็จแล้วการออกซ้อมกีฬาก็เริ่มขึ้น จะเริ่มจากอะไรก็ได้ตามใจเรา มีอุปกรณ์ ผู้ฝึกสอน และสถานที่พร้อมอยู่ใกล้ๆ ตอนกลางวันพักกินข้าว และช่วงบ่ายการซ้อมกีฬาก็เริ่มต้นกันอีกครั้งกับกีฬาชนิดเดิม หรือกีฬาอีกชนิดหนึ่ง พอตกเย็นก็หยุดพักเหนื่อย ชมความงามตามธรรมชาติ อาหารเย็น และสุดท้ายก็จบวันด้วยการปาตี้ก่อนจะกลับไปเข้านอนในเต็นท์หลังสวยงามกว้างใหญ่ ชีวิตที่เหลาเหลียงมีความสุขความประทับใจไปแบบนี้แทบทุกเมื่อเชื่อวัน นักท่องเที่ยวสนุกสนานจนแทบลืมวันที่จะต้องเดินทางกลับ แต่เมื่อถึงวันต้องจากลาก็ต้องจำใจจากด้วยความเสียดาย



เกาะลิบง

เป็นเกาะใหญ่ชายฝั่งขนาดพื้นที่ 40 ตารางกิโลเมตร เป็นเกาะที่แทบจะเป็นแผ่นดิน ไม่ใช่เกาะ เพราะเวลาน้ำลงมากๆ น้ำที่กั้นแผ่นดินกับเกาะก็แห้งเหือดจนเกาะกับแผ่นดินกลับกลายเป็นผืนเดียวกัน เกาะลิบงจึงเป็นเกาะที่มีชาวบ้านอยู่เป็นจำนวนมาก ทำสวนยางและสวนมะพร้าวขนาดใหญ่เป็นอาชีพหลัก หาดทรายของเกาะลิบงทั้งหมดเป็นหาดทรายผสมหาดโคลนเลน เกาะลิบงจึงเกือบไม่ใช่หาดท่องเที่ยว แต่ที่ท้ายเกาะลิบง แหลมจุโหย และ หาดตูบ ที่เป็นหาดทรายปนเลนกว้างใหญ่ ตรงนั้นจะมีนกทะเลอพยพหนีหนาวจากต่างประเทศมามากในราวเดือนพฤศจิกายนถึงสิ้นปี มารวมกลุ่มอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากมายหลายฝูงหลายชนิด ฝูงหนึ่งมีนกทะเลนับได้หลายร้อยหลายพันตัว เกาะลิบงจึงเป็นแหล่งสำคัญของนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เป็นนักดูนก ซึ่งลงลึกไปในรายละเอดียดของธรรมชาติ ที่จะพากันมาเช่าเรือออกไปดูนก หรือไม่ก็นอนเฝ้าดูกันอยู่ที่เชตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองป้องกันนกที่นี่โดยเฉพาะ เกาะลิบงแบ่งออกเป็น 3 หมู่บ้าน คือ บ้านบาดูปูเต๊ะ บ้านหลังเขา และบ้านพร้าว นอกจากนกจะมากมายแล้ว ทะเลรอบเกาะลิบงยังมากมายด้วยแนวหญ้าทะเล พืชอาหารหลักของพะยูน สัตว์สงวนที่หาพบตัวได้ยากจนคาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว ในอดีตมีการตรวจพบพะยูนในทะเลรอบเกาะนี้เป็นจำนวนมาก มีการทำโครงการอนุรักษ์และศึกษาพะยูนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และเป็นล่ำเป็นสัน แต่ดูเหมือนว่าการกระทำการทั้งหลายเหล่านั้นจะถูกละเลยไม่ติดตามผลงานกันแล้วในวันนี้

วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เทศกาลลอยกระทง


ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บลอยกระทงสุโขทัย

วันลอยกระทงของทุกปีจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย หรือถ้าเป็นปฏิทินจันทรคติล้านนาจะตรงกับเดือนยี่ และหากเป็นปฏิทินสุริยคติจะราวเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเดือน 12 นี้เป็นช่วงต้นฤดูหนาว อากาศจึงเย็นสบาย และอยู่ในช่วงฤดูน้ำหลาก มีน้ำขี้นเต็มฝั่ง ทำให้เห็นสายน้ำอย่างชัดเจน อีกทั้งวันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง ทำให้สามารถเห็นแม่น้ำที่มีแสงจันทร์ส่องกระทบลงมา เป็นภาพที่ดูงดงามเหมาะแก่การชมเป็นอย่างยิ่ง



 ประเพณีลอยกระทงนั้น ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าประเพณีนี้ได้สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า "พิธีจองเปรียญ" หรือ "การลอยพระประทีป" และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน 


          ในสมัยก่อนนั้นพิธีลอยกระทงจะเป็นการลอยโคม โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสันนิษฐานว่า พิธีลอยกระทงเป็นพิธีของพราหมณ์ จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า 3 องค์ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้นำพระพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงให้มีการชักโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระบาทของพระพุทธเจ้า 


          ก่อนที่นางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สนมเอกของพระร่วงจะคิดค้นประดิษฐ์กระทงดอกบัวขึ้นเป็นคนแรกแทนการลอยโคม ดังปรากฎในหนังสือนางนพมาศที่ว่า 

          "ครั้นวันเพ็ญเดือน 12 ข้าน้อยได้กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมสนมกำนัลทั้งปวงจึงเลือกผกาเกษรสีต่าง ๆ มาประดับเป็นรูปกระมุทกลีบบานรับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้ป็นลวดลาย..." 


ประเพณีลอยกระทงสืบต่อกันเรื่อยมา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนขุนนางนิยมประดิษฐ์กระทงใหญ่เพื่อประกวดประชันกัน ซึ่งต้องใช้แรงคนและเงินจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง จึงโปรดให้ยกเลิกการประดิษฐ์กระทงใหญ่แข่งขัน และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำเรือลอยประทีปถวายองค์ละลำแทนกระทงใหญ่ และเรียกชื่อว่า "เรือลอยประทีป" ต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ปัจจุบันการลอยพระประทีปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย


          เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จฯ ทางชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง และให้จัดประเพณีลอยกระทงขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยให้ใช้กระทงดอกบัวแทนโคมลอย ดังพระราชดำรัสที่ว่า "ตั้งแต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน" พิธีลอยกระทงจึงเปลี่ยนรูปแบบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 


ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีโบราณของไทย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าทำกันมาตั้งแต่เมื่อไร เท่าที่ปรากฏ กล่าวได้ว่ามีมาตั้งแต่สุโขทัยเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิษฐาน ว่า เดิมทีเดียวเห็นจะเป็นพิธีของพราหมณ์ กระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้ถือตามแนวทางพระพุทธศาสนา มีการชักโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา ในสมัยสุโขทัย นางนพมาศพระสนมของพระร่วงได้คิดทำกระทงถวายเป็นรูปดอกบัวและรูปต่างๆให้ทรงลอยตามสายน้ำไหล


พระร่วงเจ้าทรงพอพระราชหฤทัยกระทงดอกบัวของนางนพมาศมาก จึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง และปฏิบัติสืบต่อกันมา จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยเหตุนี้ กระทงรูปดอกบัวจึงปรากฏมาจนทุกวันนี้ แต่เปลี่ยนชื่อเรียกว่า "ลอยกระทงประทีป" ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงตัดพิธีต่าง ๆ ที่เห็นว่าสิ้นเปลืองออก ต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้อีก ปัจจุบันนี้ การลอยพระประทีปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย แต่พิธีของชาวบ้านยังทำกันอยู่เป็นประจำตลอดมา


อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา



ขอขอบคุณข้อมูลจาก เว็บ thaiwhic

ตั้งอยู่ที่ เกาะเมือง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรี-อยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศเหนือ ๗๖ กิโลเมตร

               ตัวเกาะเมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางของกรุงศรีอยุธยาในอดีต ถูกล้อมรอบด้วยแม่น้ำสำคัญ  ๓ สายคือ  แม่น้ำลพบุรีด้านทิศเหนือ   แม่น้ำป่าสักด้านทิศตะวันออก   และแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันตกและทิศใต้   ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการเกษตรกรรมอันเป็นพื้นฐานของการตั้งถิ่นฐาน เป็นชุมทางคมนาคมที่เอื้อต่อการค้าทั้งภายในและภายนอก ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีความสำคัญของภูมิภาคเอเชียและของโลก ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๓

               กรมศิลปากร ได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓ ตอนที่ ๑๐๒ ลงวันที่ ๑๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙ พื้นที่ ๑,๘๑๐ ไร่ และในปี พุทธศักราช ๒๕๔๐ กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยาเพิ่มเติม ซึ่งครอบคลุมเกาะเมืองอยุธยาและพื้นที่รอบนอกเกาะเมืองทุกด้านที่ปรากฏหลักฐานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี รวมพื้นที่โบราณสถานประมาณ ๓,๐๐๐ ไร่

เขต ๑ พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์


พระราชวังโบราณ
                เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ ต่อมาในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ พุทธศักราช ๑๙๙๑ โปรดฯให้ย้ายพระราชวังขึ้นไปสร้างใหม่ทางเหนือริมแม่น้ำลพบุรี และอุทิศพระราชวังเดิมให้เป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์สำหรับประกอบพระราชพิธีต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ มีลักษณะแผนผังแบ่งออกเป็น ๓ ส่วนคือ  เขตพระราชฐานชั้นนอก  เขตพระราชฐานชั้นกลาง  และเขตพระราชฐานชั้นใน ประกอบด้วยพระที่นั่งต่างๆ ได้แก่ พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท พระที่นั่งวิหารสมเด็จ พระที่นั่งจักรวรรดิ-ไพชยนต์ พระที่นั่งบรรยงรัตนาสน์ พระที่นั่งตรีมุข และพระที่นั่งทรงปืน เป็นต้น

วัดพระศรีสรรเพชญ์
                เดิมเป็นพระราชวังซึ่งพระเจ้าอู่ทองทรงสร้าง ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงอุทิศให้เป็นวัดสำหรับประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ เมื่อปี พุทธศักราช ๑๙๙๑ ภายในวัดประกอบด้วยเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถและสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ และพระวิหารพระศรีสรรเพชญ์ ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่  ๒   เมื่อปีพุทธศักราช  ๒๐๓๕   และพุทธศักราช  ๒๐๔๒   ตามลำดับ   โดยภายในพระวิหารหลวงจะประดิษฐาน “พระศรีสรรเพชญ์” ซึ่งพระองค์โปรดให้หล่อขึ้นในปี พุทธศักราช ๒๐๔๓ ส่วนพระเจดีย์อีกองค์หนึ่งนั้นได้รับการสร้างขึ้นในสมัยพระบรมราชาธิราชที่ ๔ เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระราชบิดา

วัดมหาธาตุ
               เป็นวัดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ โปรดฯให้สถาปนาขึ้นเมื่อปี พุทธศักราช ๑๙๑๗ แต่มาแล้วเสร็จในสมัยสมเด็จพระราเมศวร มีปรางค์ประธานเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมปรางค์ประธานได้พังทลายลงมา   และได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง   กระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรางค์ประธานได้พังทลายลงมาอีกครั้งดังปรากฏสภาพในปัจจุบัน

วัดราชบูรณะ
               เป็นวัดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) โปรดฯให้สถาปนาขึ้นในปีพุทธศักราช ๑๙๖๗ บริเวณที่ถวายพระเพลิงพระศพเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา     พระเชษฐาของพระองค์ซึ่งสิ้นพระชนม์เนื่องจากการรบแย่งชิงราชสมบัติ ภายในวัดประกอบด้วยปรางค์ประธานซึ่งล้อมรอบด้วยระเบียงคด มีพระวิหารตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ส่วนพระอุโบสถตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ภายในกรุปรางค์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนต้น และเป็นที่บรรจุเครื่องราชูปโภคซึ่งทำด้วยทองคำ พระพิมพ์ และของมีค่าอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก

วัดพระราม
               ตั้งอยู่ใกล้กับหนองโสนหรือบึงพระราม   เป็นวัดที่สมเด็จพระราเมศวรโปรดฯ    ให้สถาปนาขึ้นบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ในปีพุทธศักราช ๑๙๑๒ ต่อมาได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถและสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ภายในวัดประกอบด้วยปรางค์ประธานขนาดใหญ่ มีปรางค์ขนาดเล็ก ๒ องค์ขนาบอยู่ทางทิศเหนือ – ใต้ และมีเจดีย์ประจำมุมทั้งสี่ด้วย

วิหารพระมงคลบพิตร
                พระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์และลงรักปิดทอง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น เพราะมีลักษณะศิลปะอู่ทองผสมกับศิลปะสุโขทัย แต่เดิมประดิษฐานอยู่กลางแจ้งด้านทิศตะวันออกนอกพระราชวังหลวง  ถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พุทธศักราช ๒๑๕๓  โปรดฯ ให้ชะลอมาไว้ทางด้านตะวันตกและสร้างมณฑปครอบองค์พระ จนถึง พุทธศักราช ๒๒๘๕ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์โดยเปลี่ยนหลังคาซึ่งเป็นมณฑปมาเป็นวิหาร
เขต ๒ พื้นที่เกาะเมืองนอกเขตอุทยานประวัติศาสตร์


พระราชวังจันทรเกษม
                หรือวังหน้าสมัยอยุธยา อยู่ริมแม่น้ำป่าสักบริเวณลำคูขื่อหน้า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชโปรดฯให้สร้างขึ้นราว พุทธศักราช ๒๑๒๐ เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในขณะที่พระองค์ยังเป็นพระยุพราชครองเมืองพิษณุโลก และได้ใช้เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลองค์ต่อมาตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ปี พุทธศักราช ๒๓๑๐ จึงถูกไฟไหม้หมด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ  ให้ซ่อมแซมฟื้นฟูโดยการสร้างพระราชวังใหม่ซ้อนทับบนรากฐานเดิม  ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างสำคัญได้แก่  พลับพลาจตุรมุข พระที่นั่งพิมานรัตยา และพระที่นั่งพิสัยศัลยลักษณ์ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ทำการอนุรักษ์และปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม

วัดสุวรรณดาราราม
                เป็นวัดสำคัญประจำราชวงศ์จักรี สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งแต่เดิมชื่อ ทองดี เป็นผู้สร้างและให้ชื่อว่า “วัดทอง”  ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว จึงโปรดฯ ให้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “วัดสุวรรณดาราราม”  ภายในวัดมีพระอุโบสถและพระวิหารตั้งอยู่คู่กัน ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

เขต ๓ พื้นที่นอกเกาะเมืองด้านทิศตะวันออก


วัดพนัญเชิง
                พงศาวดารเหนือระบุว่าเป็นวัดที่พระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นผู้สร้าง และพระราชทานนามว่า “วัดพระเจ้าพระนางเชิง” มีพระเจ้าพนัญเชิง ซึ่งสร้างขึ้นใน ปี พุทธศักราช ๑๘๖๗ ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา ๒๖ ปี เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย สูง ๑๙ เมตร เป็นพระประธานภายในพระวิหาร  ต่อมาในปี พุทธศักราช ๒๓๙๗ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งองค์ แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “พระพุทธไตรรัตนายก” ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “หลวงพ่อโต”

วัดใหญ่ชัยมงคล
               เป็นวัดที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)  โปรดฯให้สร้างขึ้นที่บริเวณที่ปลงพระศพเจ้าแก้วเจ้าไทย  ซึ่งสิ้นชีพตักษัยด้วยอหิวาตกโรค เมื่อปี พุทธศักราช ๑๙๐๐ เพื่อให้เป็นสำนักสงฆ์คณะป่าแก้ว ซึ่งปฏิบัติทางวิปัสสนาธุระ และยังเป็นที่จำพรรษาของสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายขวาหรือฝ่ายอรัญวาสี ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้กระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา จึงโปรดให้สร้าง พระเจดีย์ไว้เป็นที่ระลึก ขนานนามว่า “พระเจดีย์ชัยมงคล” เป็นเจดีย์ประธานทรงกลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ มีระเบียงคดล้อมรอบ

วัดมเหยงคณ์
                ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า   เป็นวัดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒   โปรดฯให้สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๘๑ และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระในปีพุทธศักราช ๒๒๕๒ – ๒๒๕๖ ภายในวัดประกอบด้วยเจดีย์ประธานทรงระฆังบนฐานประทักษิณซึ่งประดับด้วยประติมากรรมรูปช้างรอบฐาน ส่วนชื่อวัดมเหยงคณ์ สันนิษฐานว่าตั้งชื่อตามมหิยังคณะในลังกาทวีป

หมู่บ้านญี่ปุ่น
                ชาวญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในกรุงศรีอยุธยา เพื่อเข้ามาทำการติดต่อค้าขายและเป็นทหารรับจ้าง พระมหากษัตริย์ไทยได้พระราชทานที่ดินและจ้างชาวญี่ปุ่นเพื่อทำสงครามและต่อต้านการกบฏ ชุมชนญี่ปุ่นซึ่งต่อมากลายเป็นชุมชนเลือดผสม จึงเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมืองอยุธยา ปัจจุบันสมาคมไทย – ญี่ปุ่น ได้สร้างอาคารจัดแสดงขึ้นบนบริเวณที่เคยเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่นเดิม เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นอนุสรณ์สถานระหว่างไทยและญี่ปุ่น

หมู่บ้านฮอลันดา
                ตั้งอยู่ในเขตตำบลคลองสวนพลูปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ ภายในปรากฏซากของโบราณสถาน ได้แก่แผ่นป้ายบอกบริเวณที่เคยเป็นหมู่บ้าน บ่อน้ำก่อด้วยอิฐ และซากอิฐซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของอาคารคลังสินค้าฮอลันดาหรือที่เรียกกันในสมัยอยุธยาว่า วิลันดา เป็นชาวต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อและมีความสัมพันธ์กับกรุงศรีอยุธยาในด้านการค้าต่อจากชาวโปรตุเกสและสเปน โดยมีบริษัทอีสอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ซึ่งตั้งขึ้นในปี พุทธศักราช ๒๑๔๔ เป็นตัวแทนและจัดการติดต่อทางด้านการค้าอยู่ในกรุงศรีอยุธยา

เขต ๔ พื้นที่นอกเกาะเมืองด้านทิศตะวันตก


วัดไชยวัฒนาราม 
               เป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดฯให้สร้างขึ้นในบริเวณนิวาสสถานของพระราชชนนี ในปีพุทธศักราช ๒๑๗๓ เพื่ออุทิศถวายพระราชชนนีและเป็นอนุสรณ์แสดงชัยชนะที่มีต่อเขมร จึงได้สร้างโดยจำลองแบบปราสาทนครวัด ซึ่งประกอบด้วยปรางค์ขนาดใหญ่เป็นประธาน มีปรางค์มุมตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน ล้อมรอบด้วยระเบียงคดซึ่งมีเมรุตั้งประจำอยู่ทุกทิศ แสดงให้เห็นถึงคติเรื่องการจำลองจักรวาลในพุทธศาสนา

วัดวรเชษฐาราม
                สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สมเด็จพระเอกาทศรถสร้างขึ้น เพื่อบรรจุอัฐิของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จากคำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่าวัดวรเชษฐ์นี้ เคยเป็นที่ตั้งค่ายรอบกรุงของพม่าทางด้านตะวันตกเรียกว่า “ค่ายวัดวรเชษฐ์ ค่ายบ้านป้อม”ภายในวัดประกอบด้วยปรางค์เป็นประธานของวัด มีพระอุโบสถตั้งอยู่ทางด้านหลังปรางค์ ส่วนวิหารตั้งเยื้องออกไปทางทิศใต้


เขต ๕ พื้นที่นอกเกาะเมืองด้านทิศเหนือ


วัดภูเขาทอง
              ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระราเมศวร  โปรดฯ ให้สร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อ  พุทธศักราช ๑๙๓๐  ครั้งถึง พุทธศักราช ๒๑๑๒ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาได้ จึงสร้างเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานถึงชัยชนะ    ต่อมาถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดฯ    ให้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์และพระอารามทั้งหมดในปีพุทธศักราช ๒๒๘๘    โดยเฉพาะเจดีย์ประธานพระองค์โปรดให้เปลี่ยนเป็นทรงเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ดังนั้นฝีมืออย่างพม่าเดิมจึงเหลือเพียงฐานประทักษิณเท่านั้น

วัดหน้าพระเมรุ
                ตามตำนานกล่าวว่าพระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒   ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พุทธศักราช ๒๐๔๗ พระราชทานนามว่า “วัดพระเมรุราชิการาม” ต่อมาเรียกวันภายหลังว่า “วัดหน้าพระเมรุ”  สันนิษฐานว่าสร้างตรงที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระราชาพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง      ภายในวัดประกอบด้วยพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ปางมารวิชัย มีพระนามว่า “พระพุทธนิมิตรวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ”

เพนียดคล้องช้าง 
               เป็นสถานที่ที่ใช้ในการคล้องช้างป่า แต่เดิมเคยมีเพนียดตั้งอยู่ที่วัดซองด้านเหนือของพระราชวังจันทรเกษม ถึงแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา พุทธศักราช ๒๑๒๓ โปรดให้ขยายกำแพงพระนครด้านตะวันออกไปถึงริมแม่น้ำ จึงทรงย้ายเพนียดไปที่ตำบลทะเลหญ้า หรือตำบลสวนพริกในปัจจุบัน หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ แล้ว เพนียดคงถูกทิ้งร้างไป   จนกระทั่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์   พระมหากษัตริย์จึงโปรดฯให้บูรณะเรื่อยมา   เช่น   ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลปัจจุบัน

เขต ๖ พื้นที่นอกเกาะเมืองด้านทิศใต้


วัดพุทไธศวรรย์
                ตั้งอยู่ริมแม่น้ำตรงข้ามกับพระนครด้านใต้ ในบริเวณเวียงเหล็กที่พระเจ้าอู่ทอง โปรดฯให้สร้างขึ้นในปีพุทธ-ศักราช ๑๘๙๖ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงบริเวณที่พระองค์เคยเสด็จมาประทับอยู่ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา โบราณสถานสำคัญได้แก่ ปรางค์ประธาน วิหารคด และตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ที่ผนังภายในตำหนักมีภาพเขียนสีในสมัยอยุธยาเรื่องทศชาติ และเรื่องสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ไปนมัสการพระพุทธบาทที่ลังกาทวีป

หมู่บ้านโปรตุเกส 
               ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ มีอยู่ด้วยกัน ๓ นิกาย คือ นิกายเยซูอิต  นิกายฟรานซิสกัน   และนิกายโดมินิกัน   ได้สร้างหมู่บ้านอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านใต้ของเกาะเมือง ปัจจุบันบนพื้นที่บริเวณนั้นปรากฏโบราณสถานจำนวน ๓ แห่ง คือ ซานเปาโล ซานโดมิงโก และซานเปโตร โดยโบราณสถานซานเปโตรนั้น เข้าใจว่าเป็นโบสถ์ที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดฯให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานของชาวโปรตุเกส นับว่าเป็นโบสถ์คริสต์แห่งแรกที่สร้างขึ้นในแผ่นดินไทย

เขต ๗ พื้นที่นอกเหนือจากที่ระบุไว้แล้ว ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา


ปราสาทนครหลวง
               อำเภอนครหลวง ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำป่าสัก พระราชพงศาวดารระบุว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดฯให้ช่างไปถ่ายแบบปราสาทนครหลวงในประเทศกัมพูชามา สร้างไว้เป็นสังเขปเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ เป็นสถานที่ตั้งอยู่ระหว่างทางที่เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี ปราสาทนครหลวงจึงเป็นสถานที่ประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถและเป็นที่พักแรมในระยะทางที่เสด็จไปประพาสเมืองลพบุรีด้วย

วัดใหม่ประชุมพล
                อำเภอนครหลวง ภายในวัดประกอบด้วย เจดีย์ประธานทรงย่อมุมไม้สิบสองบนฐานสูงที่นิยมสร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ภายในกรุของเจดีย์ที่ฝาผนังเขียนลวดลายพุ่มข้าวบิณฑ์ และรูปดวงดารา ตามคำบอกเล่ากล่าวว่า      วัดแห่งนี้เป็นสถานที่พักแรมของพวกข้าราชบริพารที่ตามเสด็จพระเจ้าทรงธรรมไปนมัสการรอยพระพุทธบาท สระบุรี

 วัดชุมพลนิกายาราม
                อำเภอบางปะอิน ตั้งอยู่ใกล้กับพระราชวังบางปะอิน เป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดฯให้สร้างขึ้นราว พุทธศักราช ๒๑๗๕ โดยทรงอุทิศบ้านเดิมที่ทรงพระราชสมภพถวายเป็นพุทธบูชา      โดยสร้างวัดขึ้นตรงนั้น พระราชทานนามว่า “วัดชุมพลนิกายาราม” ภายในวัดมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองปรากฏอยู่ ๒ องค์ และอาคารอื่น ๆ